วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พิธีทำบุญและเปิดสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ

หลังจากที่ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 ให้แปรสภาพ คณะกรรมการยุทธศาสตร์กองทัพบก เป็น สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ตั้งแต่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นมา (คำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ลับที่ 69/63 ลงวันที่ 23 ก.ย.2563)




พลเอก ธเนศ กาลพฤกษ์ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบกในฐานะเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้จัดให้มีพิธีทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลและเปิดสถาบันฯ อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ย.2563 เวลา 07.00-08.00 น. โดยมี พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ เป็นประธานในพิธีฯ 

พิธีบวงสรวงและถวายสักการะ
พลเอก ธเนศ กาลพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ เริ่มพิธีสักการะศาลพระชัยมงคลภูมิ ตั้งแต่ตอนเช้า เวลา 05.45 น. ต่อด้วยพิธีถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ภายในกองบัญชาการกองทัพบก (ดูภาพ)




พิธีสงฆ์
พิธีสงฆ์ เริ่มขึ้นเวลา 07.00 น. ณ ห้อง 321 อาคาร 3  โดยมี พระเทพปริยัติมุนี เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร และพระสงฆ์จำนวน 10 รูปเจริญพระพุทธมนต์




พิธีเปิดป้ายสถาบัน
เวลา 07.40 น. พลเอก ธเนศ กาลพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ  กล่าวรายงานต่อ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก/ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ ประธานในพิธีฯ 


คำกล่าวรายงานฯ ของ พลเอก ธเนศ กาลพฤกษ์

"เรียน ผู้บัญชาการทหารบก/ประธานกรรมการบริหารสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

ตามคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ) ที่  69/63 เรื่อง แปรสภาพคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ทบ. เป็น สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 โดยมีอำนาจหน้าที่ รวบรวมงานวิจัย งานด้านวิชาการ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้านความมั่นคง มาดำเนินการจัดการความรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานข้อมูล และความรู้ด้านความมั่นคง ตลอดจนดำเนินการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคง ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้กับผู้บังคับบัญชาของกองทัพบก  รวมถึงการผลิต และเผยแพร่ผลงานด้านความมั่นคง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจได้ศึกษา

สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เริ่มปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย โดยดำเนินการเสนอโครงสร้าง ให้ กรมยุทธการทหารบก และเสนอแผนการบรรจุกำลังพลให้ กรมกำลังพลทหารบก แล้ว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เป็นที่รู้จักแก่ส่วนราชการ ตลอดจนเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียม รักษาประเพณีอันดีงาม และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ให้เกิดความเป็นสิริมงคล แก่กำลังพลที่มาปฏิบัติงาน สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จึงกำหนดจัดพิธีทำบุญ และเปิดป้ายสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ในวันนี้

ทั้งนี้ กำลังพลในสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จะปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ให้บรรลุผลสำเร็จด้วยความตั้งใจ ความร่วมมือ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เพื่อเป็นเกียรติแก่สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และถือเป็นก้าวแรก ของการเปิดสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ  ขออนุญาตเรียนเชิญ                ผู้บัญชาการทหารบก ประธานกรรมการบริหารสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง กรุณาให้เกียรติ กระทำพิธีเปิดป้ายสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หลังจากนั้นกรุณาเข้าเยี่ยมชมสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ต่อไป ครับ"

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ประธานในพิธีฯ กดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย




พิธีเจิมป้าย
พระเทพปริยัติมุนี เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เจิมป้ายสถาบันฯ เพื่อเป็นสิริมงคล


เยี่ยมชมสถาบันฯ 
พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ และผู้ร่วมพิธี เข้าเยี่ยมชมสถาบันฯ รับฟังการบรรยายสรุป


ลงนามในสมุดเยี่ยม
พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ลงนามในสมุดเยี่ยมของสถาบันฯ





รายนามผู้เข้าร่วมพิธีทำบุญและเปิดป้ายสถาบันฯ

ประธานในพิธี 
พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก/ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ

คณะผู้บังคับบัญชา
พลเอก ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ รองผู้บัญชาการทหารบก/กรรรมการบริหารสถาบันฯ
พลเอก พรศักดิ์   พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก/กรรมการบริหารสถาบันฯ
พลเอก ธรรมนูญ  วิถี  ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก/กรรมการบริหารสถาบันฯ
พลเอก วรเกียรติ  รัตนานนท์ เสนาธิการทหารบก/กรรมการบริหารสถาบันฯ
พลเอก ธัญญา เกียรติสาร ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก/กรรมการบริหารสถาบันฯ
พลเอก ณัฐวุฒิ  ชุณหะนันทน์  ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก/กรรมการบริหารสถาบันฯ
พลเอก พัลลภ   เฟื่องฟู หน.คณะ ฝสธ.ประจำผู้บังคับบัญชา/กรรมการบริหารสถาบันฯ
พลตรี จิรศักดิ์   เอี่ยมสมบูรณ์  ผู้แทนรองเสนาธิการทหารบก 1
พลโท ชนาวุธ    บุตรกินรี รองเสนาธิการทหารบก 2 
พลโท ทรงวิทย์  หนุนภักดี รองเสนาธิการทหารบก 3
พลโท เชษฐา   ตรงดี รองเสนาธิการทหารบก 4
พลโท นพดล   ชั้นประดับ ปลัดบัญชีทหารบก
พลโท มานัสชัย  ศรีประจันทร์   เจ้ากรมกำลังพลทหารบก
พลโท เทอดศักดิ์   ดำขำ เจ้ากรมข่าวทหารบก
พลโท อุกฤษฎ์  บุญตานนท์  เจ้ากรมยุทธการทหารบก
พลโท ชัยมนตรี โพธิ์ทอง เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก
พลตรี ชาญวิทย์ อรรถธีระพงษ์ ผู้แทนเจ้ากรมกิจการพลเรือน
พลโท วิสันติ  สระศรีดา  เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก
พลตรี นุกูล  โล่ประเสริฐ เจ้ากรมสารบรรณทหารบก
พลตรี กฤษณ์   จาดสุวรรณ เจ้ากรมการเงินทหารบก
พลตรี สมบุญ  เกตุอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก
พลตรี มานพ  สัมมาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก
พลตรี มหศักดิ์   เทพหัสดิน ผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก
พลตรี อานุภาพ   ศิริมณฑล เลขานุการกองทัพบก

อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก
พลเอก ยุทธศิลป์   โดยชื่นงาม  (พ.ศ.2555)
พลเอก อักษรา  เกิดผล (2558)
พลเอก สิริศักดิ์   วรเจริญ (2560)
พลเอก วรวิทย์   วรรธนะศักดิ์ (2562)
พลเอก จักรชัย โมกขะสมิต (2563)

ที่ปรึกษาสถาบันฯ
พลเอก ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ 
พลเอก สุรใจ  จิตต์แจ้ง
พลเอก ณัฎฐ์สิทธิ์  ละแมนชัย
พลเอก ทรงพล   รัตนโกเศรษฐ

อาจารย์ภายนอก
รศ.ดร.ไพบูลย์   แจ่มพงษ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
รศ.ดร.ลือชัย   ศรีเงินยวง อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.สมหมาย  จันทร์เรือง  ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม
รศ.ดร.ยุทธพร  อิสรชัย อาจารย์ประจำวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ดร.ลิขิตกุล  พุ่มเกษม ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและวิจัยสถาบัน มหาวิทยาลัยสยาม

การ์ดเชิญ
ของที่ระลึก






ข่าวแจก



คำถามเตรียมไว้สัมภาษณ์ 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

รหัสลับ (secret code) ในม็อบราษฎร 2563

รหัสลับ (Secret Code) หมายถึง การสร้างสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รู้กันและใช้สื่อสารกันในหมู่คณะ  เราสังเกตุได้ชัดว่า "ม็อบราษฎร 2563" ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ได้สร้างรหัสลับภายในม็อบเพื่อสื่อสารซึ่งกันและกัน ป้องกันไม่ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามความเคลื่อนไหวได้ ทั้งรหัสลับทางภาษา และสัญญาณมือ โดยสื่อสารกันอย่างรวดเร็วผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ทรงพลัง อาทิ Telegram Twitter เป็นแฟลชม็อบที่สามารถชุมนุมหรือสลายการชุมนุมที่ใดก็ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง 

ที่ของภาพ มติชนออนไลน์. (2563)


ภาษาม็อบ
รหัสลับทางภาษา หรืออาจเรียกว่า ภาษาม็อบ หรือดิกชั่นนารีม็อบ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กลุ่มม็อบราษฎร 63 ใช้สื่อสาร สำนักข่าวต่างๆ หลายสำนักได้มีการรวบรวมไว้อย่างหลากหลาย พอสรุปได้ดังนี้ 
  • แกงเทโพ มาจากคำว่า แกง หมายถึง "การแกล้ง"  เท คือ "การทิ้ง" และ โพ คือ ตำรวจ (Police) รวมกันหมายถึง แกล้งทิ้งตำรวจ บอกว่าจะชุมนุมสถานที่หนึ่ง แต่กลับไปอีกสถานที่หนึ่ง
  • ปฏบัติการจุ๊ก หมายถุึง วางหมาก รู้ทางหนีทีไล่ การสับขาหลอก  
  • แครอท  หมายถึง พระ เพราะแครอท มีสีเหลืองส้ม
  • เบบี้แครอท หมายถึง เณร 
  • หัวไชเท้า หมายถึง แม่ชี เพราะหัวไชเท้าสีขาว
  • เบบี้คริสตัล หมายถึง กลุ่มผู้ชุมนุม/คณะราษฎร
  • บร็อคโคลี่ หมายถึง ทหาร  เพราะบร็อคโคลี่ เป็นผักสีเขียว
  • มอคค่า หมายถึง ตำรวจ เพราะมอคค่าเป็นกาแฟสีน้ำตาล (สีกากี)
  • แก๊งบลูเบอรี่ หมายถึง ตำรวจตระเวนชายแดน 
  • อาโวคาโด หมายถึง นักศึกษาวิชาหทาร (รด.)
  • นาตาชา โรแมนนอฟฟ์ (Black Widow) หมายถึง ผู้แฝงตัวในพื้นที่เพื่อหาข้อมูล เปรียบเสมือนสายลับ เช่น  กลุ่มคนเสื้อเหลืองชู  3 นิ้ว เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ
  • โอเลี้ยง หมายถึง เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน
  • โอยั๊วะ หมายถึง รถฉีดน้ำแรงดันสูงสีฟ้า
  • สเมิร์ฟ หมายถึง ผู้ชุมนุมที่โดนฉีดน้ำแรงดันสูง
  • ลูกชุบ หมายถึง ดาราที่อยากชุบตัวตามกระแส โดยเมื่อก่อนเป็นพวก กกปส. 
  • CIA/หน่วยข่าวกรอง/หน่วยข่าวเคลื่อนที่เร็ว   หมายถึง รถเข็นขายของ/ลุกชิ้นทอด/โตเกียว/หมีกย่าง ฯลฯ
  • โดนัล DUMP หมายถึง ลุงตู่ หรือ ลุงแถวบ้านที่มีลักษระก้าวร้าว 
  • ฟูฟู หมายถึง พวกยศพลเอก ที่ทำตามคำสั่งอย่างเดียว
  • มินเนียน  หมายถึง พวกเสื้อเหลืองหัวเกรียน (Minion ฺBob เป็นตัวละครในภาพยนตร์)
  • โดราเอมอน หมายถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะเวลาแอบไปม็อบ ชอบใส่เสื้อคลุมสีน้ำเงิน เวลาคลุมหัวและมัดเชือกจะดูกลม ๆ คล้ายโดราเอมอน
  • มะเขือเทศ หมายถึง ยมบาล 
  • ข้าวโพดดิบ หมายถึง พวกเสื้อเหลือง
  • เกียม หมายถึง เตรียม
  • กลิ่นกะทิแรงมาก หมายถึง สลิ่ม
  • โอเค นัมเบอร์วัน หมายถึง ตอบตกลง หรือเห็นด้วยอย่างยิ่ง
  • แกง หมายถึง หลอก ต้ม สับขาหลอก
  • บังเกอร์ หมายถึง รอเก้อ
ประยุกต์จากม็อบฮ่องกง
ที่มาของภาพ  Bright Today (2563)

สัญญาณมือ 
สัญญาณมือ นี้จริงๆ มีใช้มานานแล้ว ตั้งแต่ยุคหินที่มนุษย์ยังไม่ได้ประดิษฐ์ภาษา ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ   สัญญาณมือมีการใช้ในหลากหลายวงการ อาทิ ใช้สำหรับผู้พิการทางหู ใช้ในยุทธวิธีของทหาร-ตำรวจ ใช้ในกิจกรรมของลูกเสือ-เนตรนารี ใช้ในกิจกรรมกีฬาต่างๆ ใช้ในกิจกรรมการบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ  สัญญาณมือในม็อบราษฎร 2563  หลายสัญญาณมือก็นำมาจากม็อบในฮ่องกง เท่าที่พบเห็นในปัจจุบัน อาทิ 
  • การชูมือเหนือศรีษะ แล้วใช้ปลายนิ้วทั้งสองด้านมาประกบชิดกัน หมายถึงต้องการ “ร่ม” 
  • การใช้มือทั้งสองข้างจิ้มลงไปที่ศรีษะ หมายถึงต้องการ “หมวก”
  • การยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศรีษะ แล้วไขว้กัน หมายถึง “อันตราย”
  • การยกมือสองข้างขึ้นเหนือศรีษะ แล้วใช้นิ้วชี้ไขว้กัน หมายถึง “ไม่ได้ยิน” 
  • การชี้นิ้วเหนือศรีษะ แล้วหมุนวน หมายถึง “ให้วิ่งหนี” อาจมีการสลายชุมนุม
  • การยกมือข้างใด ข้างหนึ่งขึ้นเหนือศรีษะ แล้วใช้นิ้วกลางไขว้ทับบนนิ้วชี้ หมายถึง “มีคนถูกทำร้าย บาดเจ็บ”
  • การมือมือเป็นสัญลักษณ์ OK แปลว่า “ปลอดภัย”
  • การทำนิ้วมือเป็นวงกลมหมายถึง “แว่น” 
  • การชูนิ้วก้อยขึ้นหนึ่งนิ้ว หมายถึง “น้ำ” 
  • การชูนิ้วชี้และนิ้วก้อย หมายถึง “อาหาร” 
ที่มาของภาพ  Bright Today (2563)

ม็อบราษฎร์ 2563 แตกต่างจากม็อบพันธมิตร ม็อบเสื้อแดง และม็อบ กปปส.ในอดีตที่ผ่านมา ม็อบแต่ก่อนส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากต่างจังหวัด การเดินทางไป-กลับ เป็นเรื่องลำบาก  จึงจำเป็นต้องมีการปักหลักพักค้าง มีสถานที่ชุมนุมที่ชัดเจน มีเวทีกลาง มีการบริหารจัดการภายในพื้นที่ชุมนุม  มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ เช่น โรงครัว สุขา ที่อาบน้ำ ฯลฯ 

แต่ม็อบราษฎร 2563  เป็นม๊อบของคนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุมนั้น อาจจะเรียนอยู่ ทำงานอยู่ หลังเลิกเรียน เลิกงานก็มาชุมนุมกัน  นัดหมายมารวมตัวได้อย่างรวดเร็ว และสลายตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องปักหลักพักค้าง ย้ายพื้นที่ชุมนุมไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวันตามจุดสำคัญที่เป็นเชิงสัญลักษณ์  ไม่มีเวทีกลางถาวรเพื่อให้แกนนำขึ้นมาปราศัย ทุกคนที่มาล้วนเป็นแกนนำทุกคน ใช้ โทรโข่งตัวเล็กๆ  เป็นกระบอกเสียง แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐบาล สื่อสารภายในกลุ่มชุมนุม ด้วยสัญณาณมือและการตะโกนบอกต่อ ๆ กันไป 

วิธีการสื่อสารภายในของม็อบราษฎร 2563 ทั้งรหัสลับ ภาษาพูด ภาษากาย ภาษาเขียน และสัญญาณมือ ยังคงมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ  ตามสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ  พัฒนาการเหล่านี้  ต้องติดตามดูกันต่อไป 

*************************************
พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
เลขานุการสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
17 พ.ย.2563

ที่มาข้อมูล
  • Line Today (2563). เปิด "ภาษาม๊อบ" ใช้สื่อสารในการชุมนุม. [Online]. Available: https://today.line.me/th/v2/article/เปิด "ภาษาม๊อบ" ใช้สื่อสารในการชุมนุม .[2563 พฤศจิกายน 17]. 
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2563). ถอดรหัส 23 ศัพท์ฮิต “ม็อบชู 3 นิ้ว. [Online]. Available: https://mgronline.com/live/detail/9630000106991. [2563 พฤศจิกายน 17].
  • Bright Today. (2563). สัญลักษณ์ภาษามือ การสื่อสารของม็อบราษฎร มีความหมายอย่างไร?. [Online]. Available: https://www.brighttv.co.th/lifestyle/sign-language. [2563 พฤศจิกายน 17].  
  • มติชนออนไลน์. (2563). ที่เดียวจบ! รวมศัพท์ภาษาม็อบเยาวชนปลดแอก คณะราษฎร 63. [Online]. Available: https://www.matichon.co.th/politics/news_2402572. [2563 พฤศจิกายน 17].

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

5 ประเด็นหลัก 17 ประเด็นย่อย ในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

เรื่องของ "ความมั่นคง"  หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องของกองทัพหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของคนในชาติทุกคน ที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิด "ความไม่มั่นคง"  ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงระดับโลก ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงในระดับภูมิภาค และส่งผลต่อมายังความมั่นคงของประเทศ สุดท้ายก็คือ ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนในชาติ

ที่มาของภาพ ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-97788

หากลองแยกแยะเรื่องราวของ "ความไม่มั่นคง" ที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติและตัวเราในปัจจุบัน อาจแยกได้หลายด้าน อาทิ 
  1. ความไม่มั่นคงของสถาบันหลักของชาติ
  2. ความไม่มั่นคงในชีวิตมนุษย์ ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน
  3. ความไม่มั่นคงด้านความรัก ความสามัคคี ความเป็นธรรม ความปรองดอง และความสมานฉันท์
  4. ความไม่มั่นคงด้านการเมือง
  5. ความไม่มั่นคงด้านการประกอบอาชีพ
  6. ความไม่มั่นคงด้านการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
  7. ความไมมั่นคงด้านภัยยาเสพติด
  8. ความไม่มั่นคงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์
  9. ความไม่มั่นคงด้านผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางทะเล
  10. ความไม่มั่นคงด้านการทำประมงที่ผิดกฏหมาย
  11. ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ
  12. ความไม่มั่นคงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  13. ความไม่มั่นคงตามแนวชายแดน
  14. ความไม่มั่นคงด้านอาชญากรรมและภัยคุกคามข้ามชาติ
  15. ความไม่มั่นคงด้านการค้ามนุษย์
  16. ความไม่มั่นคงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  17. ความไม่มั่นคงด้านผู้หลบหนีเข้าเมือง
  18. ความไม่มั่นคงด้านแรงงานต่างด้าว
  19. ความไม่มั่นคงด้านการก่อการร้าย
  20. คามไม่มั่นคงด้านการประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย
  21. ความไม่มั่นคงด้านการทุจริตและคอรัปชั่น
  22. ความไม่มั่นคงด้านภัยพิบัติต่างๆ
  23. ฯ ล ฯ
ความไม่มั่นคงที่กล่าวมานี้ ล้วนปรากฏอยู่ในกฏหมาย นโยบาย หรือแผนแม่บทด้านความมั่นคงของชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ เกือบทั้งสิ้น การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในด้านต่างๆ ที่กล่าวมานั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ  ที่ต้องมีการจัดทำขึ้น "เพื่อป้องกันและแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้น"


ที่มาของภาพ : สำนักงาน ป.ย.ป.
https://sto.go.th/th/about/policy/20-year-strategic-plan


เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า "ยุทธศาสตร์" ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 6  มาตรา 65 ระบุไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มี "ยุทธศาสตร์ชาติ" เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ...ฯลฯ และในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง  เอาไว้ โดยมีเป้าหมาย 5 ข้อ ดังนี้
  1. ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีความสุข
  2. บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติ และทุกระดับ
  3. กองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง
  4. ประเทศไทยมีบทบาทด้านความมั่นคงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
  5. การบริหารจัดการความมั่นคงมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
5 ประเด็นหลัก 17 ประเด็นย่อย 
ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ได้กำหนดไว้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย
  1. การรักษาความสงบภายในประเทศ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
    • การพัฒนาและเสริมสร้างคนในทุกภาคส่วนให้มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมตระหนักในเรื่องความมั่นคง
    • การพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ
    • การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเสถียรภาพและมีธรรมาภิบาล
    • การพัฒนาและเสริมสร้างกลไกที่สามารถป้องกันและขจัดสาเหตุของประเด็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ
  2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
    • การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในปัจจุบัน
    • การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่อาจอุบัติขึ้นใหม่
    • การสร้างความปลอดภัยและความสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
    • การรักษาความมั่นคงและผลประโชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล
  3. การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
    • การพัฒนาระบบงานข่าวกรองแห่งชาติแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ
    • การพัฒนาและผนึกพลังอำนาจของชาติ กองทัพและหน่วยงานความมั่นคง รวมทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ให้พร้อมป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศ และเผชิญกับภัยคุกคามได้ทุกมิติทุกรูปแบบ และทุกระดับ
    • การพัฒนาระบบเตรียมพร้อมแห่งชาติและการบริหารจัดการภัยคุกคามให้มีประสิทธิภาพ
  4. การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
    • การเสริมสร้างและรักษาดุลยภาพสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ
    • การเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
    • การร่วมมือทางการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค โลก รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ
  5. การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม
    • การพัฒนากลไกให้พร้อมสำหรับการติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกัน และแก้ไข ปัญหาความมั่นคงแบบองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม
    • การบริหารจัดการความมั่นคงให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศในมิติอื่น ๆ 
    • การพัฒนากลไกและองค์กรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
ที่มาของภาพ The Audiopedia
https://www.youtube.com/watch?v=TuAHtvRoZWo

KNOW-HOW
ถึงแม้ 5 ประเด็นหลัก 17 ประเด็นย่อย ในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง จะกำหนดไว้ค่อนข้างครอบคุลมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข  แต่จะทำอย่างไร  (KNOW-HOW) ต่างหากที่เป็นสิ่งท้าทาย พันธกิจ ภารกิจ โครงการ แผนงาน ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับแต่ละยุทธศาสตร์  ล้วนต้องอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง และอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


*************************************
พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
เลขานุการสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (SSDRI)
12 พ.ย.2563