เรื่องของ "ความมั่นคง" หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องของกองทัพหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของคนในชาติทุกคน ที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิด "ความไม่มั่นคง" ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงระดับโลก ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงในระดับภูมิภาค และส่งผลต่อมายังความมั่นคงของประเทศ สุดท้ายก็คือ ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนในชาติ
หากลองแยกแยะเรื่องราวของ "ความไม่มั่นคง" ที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติและตัวเราในปัจจุบัน อาจแยกได้หลายด้าน อาทิ
- ความไม่มั่นคงของสถาบันหลักของชาติ
- ความไม่มั่นคงในชีวิตมนุษย์ ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน
- ความไม่มั่นคงด้านความรัก ความสามัคคี ความเป็นธรรม ความปรองดอง และความสมานฉันท์
- ความไม่มั่นคงด้านการเมือง
- ความไม่มั่นคงด้านการประกอบอาชีพ
- ความไม่มั่นคงด้านการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ความไมมั่นคงด้านภัยยาเสพติด
- ความไม่มั่นคงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์
- ความไม่มั่นคงด้านผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางทะเล
- ความไม่มั่นคงด้านการทำประมงที่ผิดกฏหมาย
- ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ
- ความไม่มั่นคงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- ความไม่มั่นคงตามแนวชายแดน
- ความไม่มั่นคงด้านอาชญากรรมและภัยคุกคามข้ามชาติ
- ความไม่มั่นคงด้านการค้ามนุษย์
- ความไม่มั่นคงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ความไม่มั่นคงด้านผู้หลบหนีเข้าเมือง
- ความไม่มั่นคงด้านแรงงานต่างด้าว
- ความไม่มั่นคงด้านการก่อการร้าย
- คามไม่มั่นคงด้านการประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย
- ความไม่มั่นคงด้านการทุจริตและคอรัปชั่น
- ความไม่มั่นคงด้านภัยพิบัติต่างๆ
- ฯ ล ฯ
ความไม่มั่นคงที่กล่าวมานี้ ล้วนปรากฏอยู่ในกฏหมาย นโยบาย หรือแผนแม่บทด้านความมั่นคงของชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ เกือบทั้งสิ้น การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในด้านต่างๆ ที่กล่าวมานั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมีการจัดทำขึ้น "เพื่อป้องกันและแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้น"
ที่มาของภาพ : สำนักงาน ป.ย.ป. https://sto.go.th/th/about/policy/20-year-strategic-plan |
เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า "ยุทธศาสตร์" ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 6 มาตรา 65 ระบุไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มี "ยุทธศาสตร์ชาติ" เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ...ฯลฯ และในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง เอาไว้ โดยมีเป้าหมาย 5 ข้อ ดังนี้
- ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีความสุข
- บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติ และทุกระดับ
- กองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง
- ประเทศไทยมีบทบาทด้านความมั่นคงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
- การบริหารจัดการความมั่นคงมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
5 ประเด็นหลัก 17 ประเด็นย่อย
ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ได้กำหนดไว้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย
- การรักษาความสงบภายในประเทศ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
- การพัฒนาและเสริมสร้างคนในทุกภาคส่วนให้มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมตระหนักในเรื่องความมั่นคง
- การพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ
- การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเสถียรภาพและมีธรรมาภิบาล
- การพัฒนาและเสริมสร้างกลไกที่สามารถป้องกันและขจัดสาเหตุของประเด็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ
- การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
- การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในปัจจุบัน
- การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่อาจอุบัติขึ้นใหม่
- การสร้างความปลอดภัยและความสันติสุขอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- การรักษาความมั่นคงและผลประโชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล
- การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
- การพัฒนาระบบงานข่าวกรองแห่งชาติแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ
- การพัฒนาและผนึกพลังอำนาจของชาติ กองทัพและหน่วยงานความมั่นคง รวมทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ให้พร้อมป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศ และเผชิญกับภัยคุกคามได้ทุกมิติทุกรูปแบบ และทุกระดับ
- การพัฒนาระบบเตรียมพร้อมแห่งชาติและการบริหารจัดการภัยคุกคามให้มีประสิทธิภาพ
- การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ได้แก่
- การเสริมสร้างและรักษาดุลยภาพสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ
- การเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
- การร่วมมือทางการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค โลก รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ
- การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม
- การพัฒนากลไกให้พร้อมสำหรับการติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกัน และแก้ไข ปัญหาความมั่นคงแบบองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม
- การบริหารจัดการความมั่นคงให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศในมิติอื่น ๆ
- การพัฒนากลไกและองค์กรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
ถึงแม้ 5 ประเด็นหลัก 17 ประเด็นย่อย ในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง จะกำหนดไว้ค่อนข้างครอบคุลมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แต่จะทำอย่างไร (KNOW-HOW) ต่างหากที่เป็นสิ่งท้าทาย พันธกิจ ภารกิจ โครงการ แผนงาน ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับแต่ละยุทธศาสตร์ ล้วนต้องอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง และอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
*************************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
เลขานุการสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (SSDRI)
12 พ.ย.2563
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น