พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศใช้ "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565)" ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2562 เป็นต้นมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคงของชาติใช้เป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนงานด้านความมั่นคงในแต่ละเรื่องต่อไป
จากนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง ดังกล่าว สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ได้นำมาใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันฯ ซึ่งสาระสำคัญของนโยบายและแผนฯ พอสรุปได้ดังนี้
สถานการณ์และบริบทความมั่นคง (พ.ศ.2562-2565)
จากการวิเคราะห์สถานการณ์และบริบทความมั่นคง พ.ศ.2562-2565 ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับโลก ด้านการเมืองระหว่างประเทศ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้าง ในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลและบทบาทของประเทศมหาอำนาจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขยายตัวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค ความขัดแย้งทางดินแดนและการใช้กำลังทหาร ความมั่นคงและผลประโยขน์ทางทะเล ในระดับบริบทความมั่นคงภายในประเทศ เกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ คามขัดแย้งของคนภายในประเทศ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความไม่เชื่อมั่นในการบริหารประเทศตามหลักนิติธรรม ปัญหายาเสพติด ความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงข้ามพรมแดน เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของภัยคุกคามข้ามชาติ การย้ายถิ่นฐานของประชากร และบริบทการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ภัยคุกคามในรูปแบบอื่น ๆ (ในช่วงที่จัดทำนโยบายและแผน ฯ ฉบับนี้ ยังไม่เกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ดังนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ภูมิภาค และประเทศไทย จึงไม่ได้มีการนำมาวิเคราะห์สถานการณ์รวมอยู่ด้วย)
จากการวิเคราะห์สถานการณ์และบริบทความมั่นคง ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก่อให้เกิดกรอบแนวคิดของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ จำนวน 7 ชุดแนวคิด ได้แก่
- ชุดที่ 1 บูรณาการข้อกฏหมายตั้งแต่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580)
- ชุดที่ 2 น้อมนำศาสตร์พระราชาเป็นหลักการทำงานด้านความมั่นคง
- ชุดที่ 3 การให้ความสำคัญกับความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security) ที่ครอบคลุม ความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) และความมั่นคงของรัฐ (State Security) ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
- ชุดที่ 4 ความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับชาติ และยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals : UN SDGs)
- ชุดที่ 5 การส่งเสริมประชารัฐ (หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และภาควิชาการ) เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริม/รักษาและเสริมสร้างด้านความมั่นคงตั้งแต่แผนชุมชนจนถึงแผนระดับประเทศ ตามแนวคิด Whole-of-Nation-Approach
- ชุดที่ 6 การเตรียมพร้อมของประเทศให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบโดยคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
- ชุดที่ 7 การรักษาดุลยภาพสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศ
กรอบแนวคิดชุดที่ 2 น้อมนำศาสตร์พระราชาเป็นหลักการทำงานด้านความมั่นคง ที่มาของภาพ กองพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม (2563) |
ผลประโยชน์แห่งชาติ
นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565) ได้ระบุผลประโยชน์แห่งชาติ ไว้ดังนี้
- การมีเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ
- การดำรงอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืนของสถาบันหลักของชาติ
- การดำรงอยู่อย่างมั่นคงของชาติและประชาชนจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
- การอยู่ร่วมกันในชาติอย่างสันติสุข เป็นปึกแผ่นความมั่นคงทางสังคม ท่ามกลางพหุสังคม และการมีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- ความเจิญเติบโตของชาติ ความเป็นธรรม และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
- ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร
- ความสามารถในการรักษาผลประโยชน์ของชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ
- การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีเกียรติ และศักดิ์ศรีในประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก
วัตถุประสงค์แห่งชาติ
- เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้มีความจงรักภักดี และธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ความเป็นธรรม และความสมานฉันท์ในชาติ เพื่อลดการเผชิญหน้า และการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ
- เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง
- เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาครัฐและส่งเสริมบทบาทและความเข็มแข็งของทุกภาคส่วน ในการรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบที่กระทบความมั่นคง
- เพื่อให้การจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และอาหาร มีความมั่นคง ความยั่งยืน และมีความสมดุลกับการขยายตัวของการพัฒนาประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์
วิสัยทัศน์
มีเสถียรภาพภายในประเทศ มีศักยภาพในการลดภัยข้ามเขตพรมแดนไทย มีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาคและประชาคมโลก
(หมายถึง ชาติมีเสถียรภาพและเป็นปึกแผ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปลอดภัยจากภัยคุกคามข้ามพรมแดน พร้อมเผชิญวิกฤตการณ์ มีบทบาท ที่สร้างสรรค์และรับผิดชอบเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคและประชาคมโลกเพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ)
นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ จำนวน 16 นโยบาย
- นโยบายที่ 1 เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- นโยบายที่ 2 สร้างความเป็นธรรม ความปรองดอง และความสมานฉันท์ในชาติ
- นโยบายที่ 3 ป้องกันและแก้ไขการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- นโยบายที่ 4 จัดระบบบริหารจัดการชายแดนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้ามพรหมแดน
- นโยบายที่ 5 สร้างเสริมศักยภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ
- นโยบายที่ 6 ปกป้อง รักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล
- นโยบายที่ 7 จัดระบบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง
- นโยบายที่ 8 เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันความมั่นคงภายใน
- นโยบายที่ 9 เสริมสร้างความมั่นคงของชาติจากภัยทุจริต
- นโยบาย ที่ 10 เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
- นโยบายที่ 11 รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นโยบายที่ 12 เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร
- นโยบายที่ 13 พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
- นโยบายที่ 14 เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ
- นโยบายที่ 15 พัฒนาระบบงานข่าวกรองให้มีประสิทธิภาพ
- นโยบายที่ 16 เสริมสร้างดุลยภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- แผนการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการข่าวกรองและประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ)
- แผนการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ (กระทรวงกลาโหม)
- แผนการสร้างความสามัคคีปรองดอง (กระทรวงมหาดไทย)
- แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
- แผนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบยาเสพติด)
- แผนการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติจากภัยทุจริต (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)
- แผนการรักษาความมั่นคงพื้นที่ชายแดน (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการรักษาความมั่นคงทางทะเล (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
- แผนการรักษาดุลยภาพสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ)
- แผนการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน (กระทรวงพลังงาน)
- แผนการรักษาความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ)
- แผนการรักษาความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ที่มาของภาพ ประชาชาติธุรกิจ (2563) |
หลังจากที่ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565) ได้ประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน ได้ปีเศษ ๆ แล้ว เราคงยังเห็นได้ชัดเจนว่า กลยทธ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในหลาย ๆ แผน ยังไม่บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์และตัวชี้วัด ยังไม่สามารถสนองตอบต่อนโยบายและวัตถุประสงค์แห่งชาติได้อย่างชัดเจน อาทิ แผนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ความเป็นธรรม และความสมานฉันท์ในชาติ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีการแตกแยกทางความคิด แบ่งกลุ่มกันอย่างชัดเจน มีการเผชิญหน้าของแต่ละกลุ่ม และแนวโน้มอาจมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2562 ยังไม่มีการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติด้านความมั่นคงรองรับไว้แต่อย่างใด
ดังนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เป็นเจ้าภาพบรูณาการประเด็นความมั่นคงนั้น ๆ คงต้องมีการหารือและทบทวนกันใหม่ สร้างกลยุทธ์ที่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายและตัวชี้วัด ของแผนและนโยบาย ได้อย่างแท้จริง
**********************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
เลขานุการสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
3 ธ.ค.2563
ดาวโหลด นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2562-2565)
ที่มาข้อมูล
- กรุงเทพธุรกิจ. (2563). การเมือง-เศรษฐกิจโลก หลังโควิด-19. [Online]. Available: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/895197. [2563 ธันวาคม 2].
- กองพัฒนายุทธศาสตร์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม (2563). ศาสตร์พระราชารัชกาลที่ ๙. [Online]. Available: https://sites.google.com/site/sastrphraracharachkalthi9/. [2563 ธันวาคม 2].
- ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน. (2561). ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล. [Online]. Available: http://www.aseanthai.net/1714/ewt/aseanthai/ewt_news.php?nid=8483&filename=index. [2563 ธันวาคม 3].
- ประชาชาติธุรกิจ. (2563). ตำรวจสลายการชุมนุม ม็อบแยกปทุมวัน. [Online]. Available: https://www.prachachat.net/politics/news-539076. [2563 ธันวาคม 3].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น